Home > ประชาสัมพันธ์ > ข่าว PR > TK ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 รายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% ลูกหนี้เช่าซื้อ-ให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,575.2 ล้านบาท เติบโต 15.8%

TK ผลประกอบการไตรมาส 3/2565 รายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% ลูกหนี้เช่าซื้อ-ให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,575.2 ล้านบาท เติบโต 15.8%

 

บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานของ TK ในไตรมาส 3/2565 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จาก 476.2 ล้านบาท ส่วนรายได้เช่าซื้อมีจำนวน 381.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.4% จาก 327.7 ล้านบาท ตามนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อที่สอดรับกับทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,484 ล้านบาท ลดลง 2.0% จาก 1,514.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 312.7 ล้านบาท ลดลง 9.5% จาก 345.7 ล้านบาท คาดเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลดีต่อการบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศลูกหนี้เติบโต 24% ในกัมพูชาและเติบโต 14.5% ใน สปป.ลาว มั่นใจปิดปีตามเป้าหมายเติบโต 20% ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ด้านประกาศ สคบ. ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อ TK ย้ำยึดนโยบายดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ พร้อมแข่งขันในบริบทใหม่ของตลาด

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 3/2565 โดยบริษัทฯ มีรายได้รวม 9 เดือนอยู่ที่ 1,484 ล้านบาท ลดลง 2.0% จาก 1,514.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 312.7 ล้านบาท ลดลง 9.5% จาก 345.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2565 รายได้รวม 498.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จาก 476.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 60.1 ล้านบาท ลดลง 53.7% จาก 129.8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ ใช้นโยบายบัญชีตัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวทันทีทั้งจำนวน และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามจำนวนลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการขยายตัวเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คุณภาพลูกหนี้ของบริษัทฯ ดีขึ้น โดยมีลูกค้าค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 5.9% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับคุณภาพลูกหนี้สิ้นปี 2564

“ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคของภาคเอกชน โดยภาคท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน ขณะที่การส่งออก 9 เดือน เติบโตขึ้น 10.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 คาดว่าการส่งออกจะยังคงขยายตัวไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศ ขณะที่ปัญหาชิปขาดแคลนคลี่คลายมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และมีแนวโน้มลดลงในปีหน้าตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มดีขึ้น ด้วยสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น กับสภาพตลาดโดยเฉพาะยอดจำหน่ายรวมรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 38.7% ทางเราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินกิจการให้เติบโต 20% ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางสาวปฐมากล่าว

ทั้งนี้ ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไตรมาส 3/2565 มียอดขาย 458,815 คัน เพิ่มขึ้น 38.7% จาก 330,704 คัน ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ 9 เดือน ปี 2565 มีจำนวน 1,369,531 คัน เพิ่มขึ้น 13.7% จาก 1,204,745 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ส่วนยอดขายรถยนต์ ไตรมาส 3 ปี 2565 มียอดขาย 206,391 คัน เพิ่มขึ้น 30% จาก 158,740 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ 9 เดือน ปี 2565 มีจำนวน 633,694 คัน เพิ่มขึ้น 19.1% จาก 531,931 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,575.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จาก 3,949.4 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.5% ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2565 โดยมาจากกัมพูชาเป็นตลาดหลัก มีลูกหนี้รวม 1,236.1 ล้านบาท เติบโต 24% จาก 996.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ สปป.ลาว มีลูกหนี้ 158.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.94% จาก 137.6 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา จากนโยบายเพิ่มยอดปล่อยสินเชื่อและสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ด้านที่เกี่ยวกับคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 นายประพลได้กล่าวว่า TK มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดมา และจะยังคงยึดหลักการดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้เพดานดอกเบี้ยเดียวกัน บริบทการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยและประชาชนที่มีความต้องการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการแข่งขันของตลาดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกฎระเบียบใหม่ของราชการ

“สำหรับ TK เราเริ่มปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยได้เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนออกประกาศ และเริ่มควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เพื่อลดต้นทุนทางด้าน Credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมในการเพิ่มบริการใหม่ จากการที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และ สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริการใหม่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลางและระยะยาวต่อไป” นายประพลกล่าวทิ้งท้าย

Comments

comments

You may also like
TK รับรางวัล Investors’ Choice Award ปี 2565 ต่อเนื่อง 15 ปี ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล
TK นำร่องบริการ “ทีเค รถแลกเงิน” 10 จังหวัด ก่อนลุยตลาดทั่วประเทศ ตั้งเป้าพอร์ต 100 ลบ. ปีนี้ และ 1,000 ลบ. ในอีก 3 ปีข้างหน้า
TK 9 เดือนรายได้รวม 1,514.5 ล้านบาท กำไร 345.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 37.5%
TK ชี้กำหนดเพดานดอกเบี้ยตามร่างประกาศสัญญาเช่าซื้อของ สคบ. ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินในระบบยากขึ้น

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.